หน้าที่และการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ใช้ทุน
 
หน้าที่และการปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้าน
สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แพทย์ประจำบ้านจะได้มีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ และเรียนรู้วิชาการทางจิตเวชศาสตร์ จากการปฏิบัติงาน ณ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช และหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ศึกษาผู้ป่วยทางระบบประสาท ณ หน่วยประสาทวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นอกจากนี้จะได้ปฏิบัติงานเพิ่มเติม ณ สถาบันสมทบทางจิตเวชที่เกี่ยวข้อง และได้ฝึกฝนการทำวิจัยทางจิตเวชศาสตร์ ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
เวลาในการเริ่มปฏิบัติงาน
แพทย์ประจำบ้าน แผน ก เริ่ม 1 กรกฎาคม แพทย์ประจำบ้าน แผน ข เริ่ม 1 มิถุนายน
การปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1
ในการฝึกอบรมในปีที่ 1 นี้ จะเน้นเรื่องความรู้พื้นฐานทางสาขาจิตเวชศาสตร์ การตรวจวินิจฉัย วินิจฉัยแยกโรคและการรักษาโรคทางจิตเวชศาสตร์ และประสาทวิทยา โดยจะต้องปฏิบัติงานดังนี้
1.   ศึกษาและฝึกอบรมจากการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ณ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช และหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเวลา 9 เดือน โดยทำงานภายใต้การสอนและการดูแลของคณาจารย์สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ประจำบ้านปีที่ 2 และ 3 โดยนำความรู้จากสาขาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ทางคลินิกให้ได้อย่างเหมาะสม
2.   ศึกษาและฝึกอบรมด้านประสาทวิทยา ณ หน่วยประสาทวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเวลา 3 เดือน
3.   ศึกษาเรื่องการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทางจิตเวชโดยรับปรึกษาผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉิน (Emergency psychiatry) และหอผู้ป่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
4.   ช่วงระหว่างศึกษาจิตเวชศาสตร์ทั่วไป ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามการจัดสรรของสาขาวิชา
5.   เลือกหัวข้อวิจัยตามความสนใจ ทบทวนบทความ (review literature) และเขียน research proposal ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาวิจัย เพื่อเสนอขอทุนวิจัยแพทย์ประจำบ้าน จากคณะแพทยศาสตร์และเสนอ ethic committee เพื่อเตรียมดำเนินงานวิจัยในปีที่ 2 ต่อไป
6.   ศึกษาความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ในด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อวิชาชีพ เช่น ภาษาอังกฤษพื้นฐาน, Basic medical science, การศึกษาทางคลินิก, ฯลฯ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงฯ สาขาจิตเวชศาสตร์
7.   ในเรื่องการให้บริการแก่ชุมชน สาขาวิชาฯยินดีสนับสนุนในกรณีที่แพทย์ประจำบ้าน มีความประสงค์จะช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การบรรยายให้ความรู้ ให้บริการตรวจสุขภาพจิต
การปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2
การปฏิบัติงานในการฝึกอบรมในปีที่ 2 นี้แพทย์ประจำบ้านจะได้ฝึกอบรมโดยเน้นทักษะจิตเวชคลินิกด้านลึกและรับปรึกษาผู้ป่วยจากต่างสาขาวิชา  การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน  การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเด็ก ตลอดจนการทำงานร่วมกับบุคลากรสุขภาพจิตอื่นๆ โดยมีการปฏิบัติงานดังนี้
1.   ศึกษาและฝึกอบรมโดยรับผิดชอบการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ณ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวช และหอผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยนำความรู้จากสาขาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ทางคลินิกในระดับที่สูงขึ้น  โดยเฉพาะการใช้ยา การทำจิตบำบัดและการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามการจัดสรรของสาขาวิชา  รวมทั้งการทำจิตบำบัดระยะยาว (long-term psychotherapy) ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นจำนวน 3-5 ราย ตลอดการฝึกอบรม
2.   ศึกษาและฝึกอบรมด้านจิตเวชทั่วไปในโรงพยาบาลจิตเวช (Mental hospital psychiatry) ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา เป็นเวลา 3 เดือน
3.   ศึกษาและปฏิบัติงานด้านจิตเวชเด็ก เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในสถาบันสมทบตามประกาศในหลักสูตรการฝึกอบรมของแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตร สาขาจิตเวชศาสตร์ พ.ศ. 2556  และ 1 เดือน ในหน่วยจิตเวชเด็ก สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ โดยการตรวจวินิจฉัยและติดตามการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเด็กและครอบครัว ภายใต้การสอนและการดูแลของอาจารย์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
4.   รับปรึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชทั้งผู้ใหญ่และเด็กจากหอผู้ป่วยต่าง ๆ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษาด้าน Consultation liaison psychiatry โดยต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยตามการจัดสรรของสาขาวิชา
5.   รับผิดชอบอยู่เวรนอกเวลาราชการ เพื่อรับปรึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจิตเวชจากห้องฉุกเฉินและหอผู้ป่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
6.   ศึกษารับฟังการบรรยายและร่วมอภิปรายในวิชาจิตเวชศาสตร์ในระดับลึก และศึกษาเทคนิคในการทำจิตบำบัดและการรักษาแบบต่างๆจากรูปแบบการเรียนการสอนที่ระบุไว้ใน
“การจัดประสบการณ์การเรียนรู้” ในหลักสูตรการฝึกอบรมฯ
7.   ดำเนินงานวิจัยต่อเนื่องและนำเสนอ Research progression เพื่อรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัย สรุปวิเคราะห์ ผลวิจัยเพื่อเขียนรายงานวิจัย
8.   ร่วมงานและให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางจิตเวช ทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา
9.   ร่วมรับผิดชอบการเรียนการสอนทางคลินิกวิชาจิตเวชศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์และให้คำแนะนำทางคลินิกแก่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1
10. ในเรื่องการให้บริการแก่ชุมชน สาขาวิชาฯยินดีสนับสนุนในกรณีที่แพทย์ประจำบ้าน มีความประสงค์จะช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การบรรยายให้ความรู้ ให้บริการตรวจสุขภาพจิต
การปฏิบัติงานของแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3
การปฏิบัติงานในการฝึกอบรมในปีที่ 3 แพทย์ประจำบ้านจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะในการบริหาร และการเป็นผู้นำในฐานะหัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน รวมทั้งได้เลือกเรียนรู้ในด้านจิตเวชศาสตร์ระดับลึก
จิตเวชชุมชน   นิติจิตเวช จิตเวชสารเสพติด โดยมีการปฏิบัติงานดังนี้
1.   ปฏิบัติงาน ณ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเวลา 7.5 เดือน ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ คือ ศึกษาและฝึกอบรมโดยรับผิดชอบการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยจิตเวชทั่วไป ณ แผนกผู้ป่วยนอกจิตเวชและหอผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยนำความรู้จากสาขาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ทางคลินิกในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการใช้ยา การทำจิตบำบัด การฟื้นฟูสุขภาพจิต และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
2.   ศึกษาและฝึกอบรมด้านจิตเวชสารเสพติด (Addiction psychiatry) ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นเวลา 1 เดือน, ด้านนิติจิตเวชศาสตร์ ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ด้านจิตเวชชุมชน ที่สถาบันสมทบ 2 สัปดาห์ และจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ที่สถาบันสมทบ  2 สัปดาห์ ตามกำหนดของราชวิทยาลัยจิตแพทย์
3.  ปฏิบัติงานในวิชาเลือก (elective) 2 เดือน
แพทย์ประจำบ้านมีอิสระในการเลือกปฏิบัติงานในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตเวชศาสตร์ หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ ต่อการฝึกอบรมสาขาจิตเวชศาสตร์ โดยเป็นสาขาทางการแพทย์(medical –based) ในสถาบันภายในหรือภายนอก (อย่างน้อย 2 สัปดาห์ต่อสาขาที่เลือก) โดยสาขาวิชาฯมีรายชื่อสถาบันที่แพทย์ประจำบ้านในรุ่นก่อนได้เลือก elective ดังนี้ ( เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาเลือก elective โดยแพทย์ประจำบ้าน สามารถเลือกในสาขาหรือสถาบันที่แตกต่างจากรายชื่อนี้ได้)
1.   Day Hospital สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
2.   Child psychiatry โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โรงพยาบาลราชานุกูล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
3.   Military Psychiatry โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
4.   Community Psychiatry โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ โรงพยาบาลจิตเวชอื่น ๆ (Mental hospital)
5.   Forensic Psychiatry สถาบันกัลยาณ์ราชครินทร์
6.   Consultation liaison ที่โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7.   Interview technique โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
8.   สถาบันต่างประเทศ  เช่น
Psychiatry
- Kyoto Prefectual University of medicine, Japan
-  National Taiwan University, Department of Psychiatry ,Taiwan
Mood disorder
- Psychopharmacology Unit(MDPU),University of Toronto,Canada
Addiction psychiatry
-   Shatin,Chinese University of Hong Kong, Hong Kong
Child and adolescent
- Mental Health service-Community Team,Colchester, England
- Royal Free Hospital, London
โดยอาจได้รับการพิจารณาให้ไปช่วงปีที่ 2 หรือ 3 ก็ได้ เพื่อไม่รบกวนการเตรียมตัวสอบในปลายปี
ที่ 3) โดยแพทย์ประจำบ้าน จะต้องแจ้งความจำนงล่วงหน้าตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 เพื่อให้จัดเวลาไม่ให้ รบกวนเวลาฝึกอบรมปกติ
4.   รับปรึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวชจากหอผู้ป่วยต่าง ๆ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษา ด้าน consultation liaison psychiatry
5.   รับผิดชอบในหน้าที่หัวหน้าแพทย์ประจำบ้าน ในงานด้านการบริการ  การบริหารและการเรียนการสอนโดย
5.1 รับผิดชอบและดูแลการปฏิบัติงานร่วมในการสอนของแพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 –6 โดยมีหน้าที่ปฏิบัติดังนี้
1) Orientation Extern ทุกกลุ่ม (Extern หมุนเวียนขึ้นกองจิตเวช 14 วัน / 1 กลุ่ม)
2) ให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย และดูแลการเขียนรายงานของ Extern
3) เลือก case และให้คำแนะนำแก่นักศึกษาแพทย์ หรือ Extern เพื่อทำ Case conference
4)  สอนนักศึกษาแพทย์ หรือ Extern ในการ round ward และสอน tutorial hour อย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อกลุ่ม
5)  ต้องรู้สถานการณ์ในหอผู้ป่วยจิตเวช และรู้ case ทั้งในเรื่องของอาการผู้ป่วยและ progression ของโรคทุก case
6)  ดูแลการออกตรวจ OPD แพทย์ประจำบ้าน และ Extern, ในวันจันทร์, พุธ, ศุกร์ ให้ตรงเวลา 09.00 น. มีส่วนร่วมในการจัดหาคนออก OPD แทนอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ในกรณีที่อาจารย์แพทย์,แพทย์ประจำบ้านไปราชการ หรือลา โดยประสานงานกับหัวหน้าสาขาวิชาหรืออาจารย์ในสาขาวิชา
7)  ประเมินผล Extern ในขั้นต้นก่อน แล้วเสนออาจารย์ที่ดูแล Extern เพื่อพิจารณาต่อไป (ประเมินตามแบบประเมินที่คณะแพทยศาสตร์กำหนดไว้)*(หมายเหตุ หัวหน้าแพทย์ประจำบ้านหมุนเวียนการปฏิบัติงานกันทุก 3-6 เดือน)
5.2  เป็นตัวแทนแพทย์ประจำบ้านในการติดต่อประสานงานกับอาจารย์ และสาขาวิชา
5.3   ดูแลตารางการปฏิบัติงานและการให้บริการต่าง ๆ ของแพทย์ประจำบ้าน
5.4   มีอำนาจในการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า และดูแลให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมคนอื่นปฏิบัติตามระเบียบของการฝึกอบรมและคณะ และรายงานให้คณะอาจารย์ผู้ดูแลแพทย์ประจำบ้านทราบ
5.5  ประสานงานและแก้ไขปัญหาระหว่างแพทย์ประจำบ้านในสาขาวิชา ในเบื้องต้น  และให้
หารือคณะอาจารย์ผู้ดูแลต่อไป
5.6   เป็นตัวแทนแพทย์ประจำบ้าน ในฐานะผู้เข้ารับการฝึกอบรม ในการประชุมต่างๆ ดังนี้
1) ร่วมเป็นคณะกรรมการการศึกษาหลังปริญญาของสาขาวิชาฯและของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหาร กำหนด ออกแบบ วางแผนหลักสูตรและประเมินผลการฝึกอบรมฯ ในแต่ละปีการศึกษา
2)  ร่วมเป็นคณะกรรมการหลักสูตรและเกณฑ์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาจิตเวชศาสตร์ เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อมีส่วนร่วมในการบริหาร กำหนด ออกแบบ วางแผนหลักสูตร และประเมินผลการฝึกอบรมฯ ในแต่ละปีการศึกษา
3)  ร่วมเป็นคณะกรรมการ patient care team (PCT) ของสาขาวิชาฯ เข้าร่วม ประชุมและเสนอความคิดเห็นในงาน PCT
4)   ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ประจำบ้าน (เริ่มในปีการศึกษา 2562)
5)   ร่วมประชุมในองค์กรแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6)   ร่วมเป็นกรรมการหรือร่วมประชุมงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมตามความเหมาะสม โดยอยู่ในดุลยพินิจของสาขาวิชาฯ
5.7  ร่วมรับผิดชอบการเรียนการสอนทางคลินิกแก่แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 2 และแพทย์ประจำบ้านสาขาอื่นที่หมุนเวียนมาฝึกอบรม ณ สาขาวิชาฯ
6.   รับผิดชอบอยู่เวรนอกเวลาราชการ เพื่อรับปรึกษาผู้ป่วยที่มีปัญหาจิตเวชจากห้องฉุกเฉิน และหอผู้ป่วยต่างๆ ในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
7.   ร่วมงานและให้คำปรึกษาแก่บุคลากรทางจิตเวช ทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา
8.   เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาและทั้งด้านส่วนตัวและวิชาการสำหรับแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1 และ 2
9.   ศึกษา รับฟังการบรรยายและร่วมอภิปรายในวิชาจิตเวชศาสตร์ในระดับลึก และศึกษาเทคนิคในการ   ทำจิตบำบัดและการรักษาแบบต่าง ๆ
10.  วิเคราะห์ ประมวลผล และเขียนรายงานการวิจัยที่ได้ดำเนินการไปเมื่ออยู่ปีที่ 2 และนำเสนอในที่ ประชุมวิชาการ  และหากได้แสดงความประสงค์ที่จะให้มีการเทียบเท่าคุณวุฒิปริญญาเอก หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมและสอบวุฒิบัตรผ่าน (จำเป็นต้องแสดงความประสงค์เป็นลายลักษณ์อักษรต่อสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ ตั้งแต่ปีที่ 1 ของการฝึกอบรม )ก็จำเป็นจะต้องเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการตามที่มีการรับรองตามประกาศของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
11.  ในเรื่องการให้บริการแก่ชุมชน สาขาวิชาฯยินดีสนับสนุนในกรณีที่แพทย์ประจำบ้าน มีความประสงค์จะช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การบรรยายให้ความรู้ ให้บริการตรวจสุขภาพจิต
 
 

เมื่อ: 24 มี.ค. 66, 11:19 น. เข้าชมทั้งหมด: 447 ครั้ง